พัก IQ และ EQ ไว้ก่อนมารู้จัก AQ ทักษะแห่งการเอาตัวรอดกัน

  • AQ (Adversity Quotient) ความสามารถในการปรับตัวที่ทำให้เอาตัวรอดได้จากสถานการณ์ต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างให้เด็กในวันนี้กลายเป็นผู้ใหญ่ที่ประสบความสำเร็จได้ต่อไปในอนาคต โดยอาศัยความพยายามและเผชิญหน้ากับปัญหาจนเกิดเป็นความภาคภูมิใจในตัวเอง (Self-Esteeming)

  • สร้าง AQ ได้ต้องเกิดจากความร่วมมือกันทั้งครูและผู้ปกครอง สภาพแวดล้อม ความรัก และการดูแลเอาใจใส่ ส่งผลโดยตรงต่อการสร้างภูมิคุ้มกันในการเอาตัวรอด การเสริมด้วยทัศนคติเชิงบวก ให้กำลังใจ และเลี้ยงดูให้เติบโตอย่างเป็นธรรมชาติจะช่วยผลักดันให้เกิด AQ ได้อย่างยั่งยืน

การร้องไห้ ทำลายข้าวของ ใช้อารมณ์เมื่อไม่ได้ดั่งใจของเด็กบางคน ในขณะที่อีกคนอาจนิ่ง รับฟัง คิด และเรียนรู้ที่จะยับยั้งชั่งใจความต้องการของตัวเอง พฤติกรรมเหล่านี้บอกอะไรผู้ใหญ่อย่างเราได้บ้าง

Dr. Paul G. Stoltz ผู้คิดค้นทฤษฎี AQ (Adversity Quotient) กล่าวไว้ว่า “ความกลัวการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนสามารถรู้สึกได้ แต่ถ้าเราลองเปิดโอกาสให้ตัวเองยืดหยุ่นเพื่อที่จะปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ต่างๆ กล้าที่จะเผชิญปัญหาอย่างไม่ย่อท้อและมองปัญหาเป็นเรื่องท้าทาย ก็น่าจะเป็นเรื่องดีกว่านั่งกลัวความเปลี่ยนแปลงอยู่เฉย ๆ”   และจุดเริ่มต้นของแนวคิดนี้เอง ที่ต้องการให้เด็กรับมือกับความกลัวการเปลี่ยนแปลงได้อย่างชาญฉลาด ความสามารถในการปรับตัวนี้อาศัยหลายปัจจัยด้วยกัน การเลี้ยงดูของผู้ปกครองรวมไปถึงการอบรมของครู จะหล่อหลอมให้เค้ากลายเป็นคนที่มี AQ และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

AQ  น้องเล็กของ IQ และ EQ 

ทั้ง AQ IQ และ EQ เป็นทักษะที่สามารถพัฒนาได้ตั้งแต่ยังเด็ก เรามาทำความรู้จักไปทีละตัวกัน IQ ความฉลาดทางปัญา พี่ใหญ่ของเรานี้ส่วนหนึ่งมาจากพันธุกรรม 50 % สิ่งแวดล้อมจากการเลี้ยงดู และประสบการณ์ต่าง ๆ อีก 50 % ซึ่งพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือครูเอง ก็สามารถพัฒนา IQ ได้ไม่ยากนัก เพราะปัจจุบันมีสื่อการเรียนรู้ เครื่องมือ เทคนิค ที่มากพอ ตามมาด้วย EQ น้องคนรอง อย่างที่เรารู้กันว่า IQ และ EQ เกิดมาคู่กัน เพราะต่างก็เป็นความฉลาดทั้งคู่ เพียงแต่คนละด้านเท่านั้น IQ คือความฉลาดทางการเรียนรู้ ส่วน EQ คือความฉลาดในการจัดการกับอารมณ์ ซึ่งทั้งคู่ส่งเสริมกันและกัน ปัญหาอยู่ที่เท่านั้นยังไม่เพียงพอ เด็ก ๆ ยุคนี้ต้องเติบโตในสังคมที่มีการแข่งขันสูง และเอาตัวรอดจากเรื่องยาก ๆ ในสังคมมากขึ้น จึงจำเป็นต้องมีความสามารถในการปรับตัว กล้าเผชิญปัญหา เรียนรู้ที่จะแก้ไขปัญหาเพื่อเอาชนะอุปสรรคต่าง ๆ ให้สำเร็จตามเป้าหมายโดยไม่ท้อแท้ หรือล้มเลิกกลางทางเปรียบเหมือนการเสริมใยเหล็กให้กับฐานของบ้านมีความแข็งแรง ทนต่อพายุหรือสิ่งแวดล้อมที่จะเข้ามากระทบ หรือเปลี่ยนไปในทุก ๆ วัน เพราะถ้าพื้นฐานของบ้านแข็งแรงแล้วการประคองตัวบ้านไว้ก็คงจะไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไป

อยากให้เด็กมี AQ ต้องทำอย่างไร

1.ส่งเสริมสภาพแวดล้อมให้กลายเป็นเด็กอารมณ์ดี
การได้รับสารอาหารที่ครบ 5 หมู่ น้ำและอากาศที่บริสุทธิ์ แวดล้อมด้วยความรัก การดูแลเอาใจใส่ สร้างสภาพแวดล้อมที่ให้ความรู้สึกปลอดภัย และพึ่งพิงได้ จะทำให้พวกเขาเป็นเด็กยิ้มง่าย จิตใจแจ่มใส และเติบโตอย่างเป็นธรรมชาติ
2.สอนให้มองโลกในแง่บวก
ฝึกให้พวกเขารู้จักการสังเกต มองสิ่งต่าง ๆ รอบตัว พูดคุยหรือได้ลงมือทำในสิ่งดี ๆ ด้วยตนเอง เช่น การเก็บของเล่น สวมเสื้อผ้า เก็บกระเป๋า รองเท้าด้วยตนเอง การชมเชยในสิ่งเล็กน้อยเหล่านี้จะเป็นการสร้างกำลังใจ และความภาคภูมิใจให้กับเด็ก ๆ ได้ดี
3.ให้เด็กได้เล่นหรือทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อน ๆ
ให้เด็กลงสนามจริงด้วยการเรียนรู้ที่จะอยู่กับกับเพื่อน ๆ  และเรียนรู้ที่จะจัดการกับตัวเองเมื่อไม่ได้ดั่งใจ หรือไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการ ด้วยการฝึกให้เด็กมองปัญหานั้นเป็นสิ่งที่สามารถแก้ไขและต้องผ่านไปให้ได้
4.ปล่อยให้ใช้ความพยายาม

หากิจกรรมที่ต้องใช้เวลาเล่นเพื่อฝึกความพยายามของเด็ก ๆ เช่น ถ้าพวกเขากำลังเล่นบล็อกไม้อาจเพิ่มเงื่อนไขหรือกำหนดปัญหาให้พวกเขาลองแก้ด้วยตัวเอง สร้างกำลังใจด้วยการเสริมพลังบวกให้เขาไม่ย้อท้อ และใช้ความอดทนเพื่อไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมาย

เจาะกิจกรรม เสริม AQ แบบเน้น ๆ

#เกมจับคู่
เกมจับคู่เป็นการฝึกการแก้ไขปัญหาอย่างง่าย ๆ เพียงแค่เตรียมบัตรภาพที่มีรูปต่าง ๆ ที่เข้าคู่กันได้ เช่น รูปปลากับทะเล รูปรถกับถนน หรือภาพคู่ที่เหมือนกัน ฯลฯ มาวางสลับที่กัน นอกจากเด็กจะได้แก้ปัญหาโดยการนำรูปวางให้ถูกคู่แล้ว ยังได้ฝึกการดิควิเคราะห์ ความจำและการสังเกตอีกด้วย

#เกมเรียงลำดับเหตุการณ์
จะใช้เป็นบัตรภาพที่มีรูปเหตุการณ์ต่าง ๆ หรือจะเป็นกิจกรรมในหนังสือ พวกกิจวัตรประจำวัน เป็นภาพตื่นนอน แปรงฟัน รถโรงเรียน เรียนหนังสือ กินข้าว อาบน้ำ และเข้านอน วางสลับเพื่อให้เด็กลำดับเรื่องราวก่อน-หลัง เป็นการคิดแก้ไข ลำดับเหตุการณ์ให้ถูกต้อง

#เกมค้นหาตัวเลข / อักษรที่หายไป
นำบัตรภาพตัวเลข 1-100 หรือตัวอักษร A-Z / ก-ฮ วางกระจายไว้บนพื้น แล้วให้เด็กหาตัวเลขหรือตัวอักษรมาเรียงกันให้ครบตามเวลาที่กำหนด หรือสามารถเพิ่มอุปสรรคเข้าไป เช่น นำภาพที่ไม่เข้าพวกมาวางปะปนกันไป เพื่อเพิ่มความยากของให้เด็กใช้ความพยายามหาตัวเลขหรือตัวอักษรให้ครบและให้ทันเวลา ฝึกเรื่องการควบคุมอารมณ์เมื่อเวลาใกล้จะหมด ฝีกสมาธิให้นิ่ง ถ้าเด็กรู้จักควบคุมอารมณ์ได้ ใช้ความพยายามในการหาต่อได้จนถึงเวลาสุดท้าย ก็ชนะเกมนี้ได้อย่างไม่ยาก

#เกม Jigsaw/ Puzzle
การเล่นจิ๊กซอว์จะช่วยพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ เสริมทักษะในการแก้ไขปัญหาด้วยสติปัญญา ให้เด็กฝึกคิด มีสมาธิ โดยไม่นำอารมณ์หรือความคิดของตัวเองเป็นใหญ่ และเป็นเกมที่ช่วยฝึกความจำได้ดี และเมื่อต่อภาพจิ๊กซอว์ตามโจทย์ด้วยตัวเองสำเร็จก็จะทำให้เด็กมีความมั่นใจในตัวเองอีกด้วย

จะเห็นได้ว่า วิธีการฝึกฝนและส่งเสริมการสร้าง AQ ให้ลูกรู้จักแก้ไขปัญหานั้นอาจไม่ใช่เรื่องยาก แต่ก็ควรสอนให้เด็กเข้าใจด้วยว่า ปัญหาและอุปสรรคบางอย่างอาจไม่ได้แก้ไขได้ง่าย บางครั้งอาจต้องใช้เวลาถึงจะสำเร็จ ที่สำคัญ “กำลังใจ” จากคุณครูคือส่วนสำคัญที่สุดในวันที่เด็กผิดพลาด อย่าว่ากล่าวซ้ำเติม หรือบังคับกดดัน เพราะอาจจะปิดโอกาสการพัฒนาการเรียนรู้ ที่จะใช้ความฉลาดในการแก้ไขปัญหาของเด็กได้

ขอบคุณข้อมูลจาก www.okmd.or.th และ https://www.aksorn.com

871 total views, 1 views today